Reduce, Reuse, Recycle, Repair และ Upcycle คืออะไร
น่าจะได้เห็นกันบ่อยๆ กับคำว่า Recycle ที่เรามักใช้กันอย่างแพร่หลายแต่จริงๆ แล้วมันหมายถึงอะไรกันแน่ แล้ว Reduce, Reuse และ Upcycle ล่ะ มันหมายถึงอะไรกันบ้าง วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกันนะคะ
คำที่เรามักจะเห็นบ่อยตามบทความต่างๆ ทางหน้าหนังสือ หรือบนหน้าเว็บไซต์ ก็คือ Recycle แต่จริงๆ ยังมีอีกสองคำที่ขึ้นต้นด้วยตัว R เหมือนกัน คือ Reduce และ Reuse (หลายคนอาจจะเข้าใจว่า Reuse = Recycle แต่จริงๆ แล้วเป็นคนละอย่างกัน)
หลักการของเหล่านี้ เป็นคำที่บอกให้เราช่วยกันใช้ทรัพยากรของโลกให้คุ้มค่าที่สุดเพื่อช่วยลดขยะและรักษาสิ่งแวดล้อมช่วยลดสภาวะโลกร้อน ซึ่งก็จะเรียงตามระดับตามความง่ายและประสิทธิภาพ
Reduce
ลด ความหมายคือลดการบริโภคทรัพยากรต่างๆ ลง วิธีนี้เป็นขั้นตอนแรกเพราะทำได้ง่ายที่สุดและดีที่สุด การลดการใช้ทรัพยากรต่างๆ Reduce ลงจะช่วยประหยัดทรัพยากรลงได้อยากมีประสิทธิภาพมากที่สุด อย่างเช่นวิธีง่ายๆ คือการรับประทานอาหารให้หมด แค่นี้ก็ช่วยลดขยะได้อย่างมากมาย หรือ Reduce ลดการใช้ถุงพลาสติก เปลี่ยนมาใช้ถุงผ้าแทน ใครมีถุงผ้าอยู่แล้วลองหยิบมาใช้กันดูสิคะ พกติดกระเป๋าเอาไว้ ถ้าซื้อของอะไรเล็กๆ น้อยๆ ก็หยิบเอาถุงผ้าออกมาใช้แทนถุงพลาสติก แค่นี้ก็สามารถลกปริมาณการใช้พลาสติกต่อวันได้เยอะเลยทีเดียวค่ะ
Reuse
ใช้ซ้ำ คือการที่เรานำเอาของที่ยังใช้ได้กลับมาใช้ซ้ำอีกครั้ง (หรืออีกหลายๆ ครั้งได้ก็ยิ่งดี) เช่นการ Reuse ใช้ถุงพลาสติกใส่ของที่ได้มาจากร้านสะดวกซื้อไปใช้ใส่ขยะ เอาขวดน้ำพลาสติกกลับมา Reuse ใส่น้ำใช้อีกครั้ง หรือว่าจะเอากล่องคุกกี้ที่รับประทานหมดแล้วมา Reuse ใส่ของใช้กระจุกกระจิกต่างๆ วิธีนี้ก็จะช่วยให้ลดการสิ้นเปลืองทรัพยากรได้อีกระดับนึง
Recycle
คือการนำสิ่งที่เราไม่สามารถที่จะใช้ซ้ำได้แล้ว ซึ่งอาจจะฉีกขาด แตกหัก กลับไปเข้ากระบวนการแปรรูปให้เป็นวัตถุดิบ โดยอาจจะใช้วิธีหลอม Recycle เพื่อนำกลับมาผลิตของขึ้นมาใหม่ เช่น การนำเอาขวดน้ำพลาสติกมาผ่านกระบวนการย่อยให้กลายเป็นเม็ดพลาสติกแล้วนำกลับมา Recycle หลอมขึ้นเป็นเส้นใย นำไปถักเป็นเสื้อยืด หรือการหลอมแก้ว การนำเอากระดาษใช้แล้วมาปั่นทำเป็นกระดาษ Recycle อีกครั้ง วิธีนี้เป็นวิธีที่อยู่ในขั้นสุดท้าย เพราะวิธีนี้จำเป็นจะต้องใช้พลังงานในการแปรรูป ซึ่งก็จะทำให้ต้องใช้ทรัพยากรอย่างเช่นน้ำมันอีกอยู่ดี
Repair
ก็คือการซ่อมแซมของที่เสียแล้ว เช่นโต๊ะ เก้าอี้ ที่ชำรุดก็เอาไปซ่อม Repair ให้ใช้งานได้เหมือนเดิม อาจจะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ที่เสียแล้ว เราก็นำกลับไปซ่อม Repair ให้ใช้งานได้ดีดังเดิม ดีกว่าที่จะต้องทิ้งแล้วซื้อใหม่ ซึ่งจะเป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากรของโลกมากขึ้น แต่บรรดาผู้ผลิตสินค้าเหล่านี้ต่างก็ไม่ชอบในข้อนี้ เลยพยายามลดต้นทุนการผลิตจนทำให้การซื้อสินค้ารุ่นใหม่คุ้มค่ากว่าการนำเอารุ่นเก่าไปซ่อม แต่สินค้ารุ่นใหม่ๆ ก็มีอายุการใช้งานที่สั้นลง เพราะใช้วัสดุราคาถูกเพื่อลดต้นทุนการผลิต และจะทำให้ต้องเปลี่ยนรุ่นใหม่ไปเรื่อยๆ ด้วยเช่นกัน
Upcycle
คำนี้เป็นศัพท์ใหม่ ที่ใช้กับการนำเอาเศษวัสดุต่างๆ ที่จะกลายเป็นขยะแล้ว นำกลับมา Upcycle ทำเป็นของใช้ใหม่ นำมาเพิ่มความสวยงาม ใส่ไอเดียใหม่ๆ โดยยังไม่ถึงกับต้องนำไป Recycle อาจจะแค่ตัดแล้วนำมาประดิษฐ์เป็นของใช้หรือของตกแต่งบ้าน เช่น เอาแผ่นโฟมมาทำตราปั๊ม, เอาแผ่นพลาสติกกันกระแทกมาทำเป็นเครื่องประดับ, ไฟราวประดับ Upcycle จากลูกขนไก่, กระถางต้นไม้ Upcycle จากขวดน้ำพลาสติก, ทำ Snow Globe จากขวดเก่า หรือ นำเอากระป๋องนมมาประดับตกแต่งให้สวยงามด้วยผ้าแล้วนำมาใช้เป็นที่ใส่ปากกาเก๋ๆ ซึ่งของที่นำมาดัดแปลงแล้วอาจจะมีความสวยงามจนไม่รู้เลยว่าของเดิมนั้นคืออะไร Upcycle เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสิ่งที่กำลังจะกลายเป็นขยะค่ะ
เมื่อเราได้รู้จักกับ Reduce, Reuse, Recycle, Repair และ Upcycle กันแล้ว เพื่อนๆ อาจจะลองมองหาวิธีช่วยลดขยะลงได้จากที่บ้านและการใช้ชีวิตประจำวัน อาจจะเริ่มต้นง่ายๆ จากถุงผ้าก่อนเลย ลองหยิบมาใช้ออกไปซื้อของที่ตลาดใกล้บ้านดูสิคะ เรื่องเล็กๆ แต่สร้างความเปลี่ยนแปลงได้เยอะนะคะ
และเช่นเดียวกับสินค้าของ พราว ที่ออกแบบให้บรรจุภัณฑ์สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้อีก เพื่อหวังเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยโลกของเราให้ลดการสิ้นเปลืองทรัพยากร เน้นประโยชน์ในการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุด
PROUD น้ำตาลคนไทย...เราภูมิใจที่ส่งต่อสิ่งดีๆให้กับชาวไทย
ที่มา: blisby.com